คำนำ

คำนำ

 

หลังจากที่ผู้เรียบเรียง ได้ร่วมปฏิบัติงานในตำแหน่ง อนุกรรมาธิการ และ เลขานุการ ของ คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติไทย ก่อนสมัยสุโขทัย ของ คณะกรรมาธิการ การศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา และได้ร่วมทำการเรียบเรียง สรุปเนื้อหา เรื่องราวหลักฐาน และเหตุการณ์ที่สำคัญ เกี่ยวกับ อาณาจักรเสียม(ศรีวิชัย) มาเรียบเรียงไว้ และได้จัดพิมพ์ เป็นหนังสือเรื่อง สยามประเทศมิได้เริ่มต้นที่กรุงสุโขทัย ตอน สหราชอาณาจักรศรีโพธิ์(เสียม) รัชกาลที่ ๑(พ.ศ.๑๒๐๒-๑๒๓๐) พบว่า ประชาชนให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ ของ ชนชาติไทยมาก เพราะสอดคล้องกับตำนานต่างๆ ในหลายท้องที่ จนต้องพิมพ์ถึง ๔ ครั้ง ก็ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย และยังมีการเรียกร้องให้ผู้เรียบเรียง เร่งรัดจัดพิมพ์เรื่องราวที่ต่อเนื่อง เล่มต่อๆ ไป ของเรื่องราว รัฐไทย สมัยสหราชอาณาจักรศรีโพธิ์(เสียม-หลอ) ทั้งหมด อีกจำนวน ๓๙ รัชกาล เพื่อออกเผยแพร่ ต่อสาธารณะชน แต่ผู้เรียบเรียง มีเหตุจำเป็นต้องยุติการดำเนินการไว้ชั่วคราว จากผลของ สถานการณ์ของประเทศ ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

เนื่องจากผู้เรียบเรียง ยังดำเนินการ เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับ สหราชอาณาจักรเสียม(ศรีวิชัย) อีกหลายรัชกาล ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็ได้เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นมาในดินแดน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ทำให้มีผู้เรียกร้องให้ผู้เรียบเรียง ช่วยเรียบเรียงความเป็นมาของ ชนชาติไทยก่อนสมัยสุโขทัย ให้ลึกลงไปถึงสมัยของ การกำเนิด แคว้นลังกาสุกะ(ปัตตานี) จึงเป็นที่มาให้ผู้เรียบเรียง ต้องนำเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ที่เคยเรียบเรียงจัดทำไว้เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๕ มาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำไปตรวจสอบหลักฐาน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ต่อไป และได้ปรากฏสู่สายตาของผู้อ่านเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาถึง ๔ ปี จึงได้มาปรากฏต่อสายตาของท่านผู้อ่าน อีกครั้งหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ ยึดถือโครงสร้างของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตามแนวทาง ตำนานความเป็นมา ของ ชนชาติไทย ตามความเชื่อของเชื้อสาย บ้านวังพวกราชวงศ์ ซึ่งเคยตั้งรกราก ในบริเวณ ทุ่งลานช้าง ภูเขาแม่นางส่ง ต.วัง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี มาเป็นแนวทางพื้นฐาน เป็นโครงสร้างเรื่อง ในการเดินเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยได้ทำการค้นคว้าตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ ต่างๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ พบหลักฐานว่า ตำนานต่างๆ ของเชื้อสายพวกบ้าวังพวกราชวงศ์ มีความน่าเชื่อถือ และพบว่า สามารถตรวจหาหลักฐาน มายืนยัน ประกอบเรื่องราว ได้ประมาณ ๗๐ % ส่วนที่เหลือ ส่วนใหญ่ คือการทบทวนความถูกต้องของหลักฐานต่างๆ และ การขุดค้นหาหลักฐาน บริเวณพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งศูนย์กลางอำนาจรัฐ ในพื้นที่สำคัญ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบร่องรอยโบราณวัตถุ ที่ถูกฝังอยู่ใต้พื้นดิน เพื่อยืนยันความถูกต้อง ๑๐๐ % อีกครั้งหนึ่ง

       การที่คนไทย ไม่มีความรู้ ประวัติศาสตร์ชนชาติตนเอง อย่างแท้จริง น่าจะมาจากเหตุผล ๓ ประการ ที่สำคัญ ประการแรก น่าจะเป็นผลมาจาก อิทธิพลการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่มาให้ชาติตะวันตก เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ ให้กับดินแดนเมืองขึ้น ของตนเอง โดยมีจุดยืนเพื่อใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือในการล่าอาณานิคม เพิ่มขึ้น เท่านั้น แต่เนื่องจาก ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ที่เคยเกิดขึ้นจริง ในอดีต จึงมี ลักษณะสัมบูรณ์ ในเชิงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ถูกชาติตะวันตก นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไปสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ กลายเป็น ลักษณะสัมพัทธ์ ในทางวิทยาศาสตร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ ความขัดแย้งด้าน องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ขึ้นมาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไม่สามารถหาข้อสรุปหาข้อเท็จจริงได้ กลายเป็นความขัดแย้งทางองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ สืบทอดต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

       เหตุผลประการที่สอง เป็นผลจาก การสืบทอดราชสมบัติ จากราชวงศ์ธนบุรี ไปสู่ ราชวงศ์จักรี มิได้เป็นไปอย่างสันติ เพราะเป็นการแย่งชิงอำนาจ เพื่อการขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น ทำให้การต่อเชื่อมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ของ ชนชาติไทย ในดินแดนสุวรรณภูมิ ไม่ต่อเชื่อมกันด้วย ทั้งนี้เพราะ ผู้สืบทอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ของชาติไทย ในอดีต นั้น คือ เชื้อสายราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ เท่านั้น แต่สายราชวงศ์จักรี ที่เข้ามาสืบทอดราชย์สมบัติ นั้น แม้จะเป็นเชื้อสายราชวงศ์ก็จริง แต่ก็ห่างไกลจากความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ของ ชาติไทย มาก ทำให้ความรับรู้ทางด้านองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่เคยสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ขาดตอนไป ในสมัยราชวงศ์จักรี

ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความขัดแย้งเกี่ยวกับ องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีผลมาจาก ความขัดแย้ง เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ของ ชาติต่างๆ ในดินแดน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์ความรู้ดังกล่าว มีพื้นฐานเกิดขึ้นจาก การล่าอาณานิคม ในอดีต ที่พยายามสร้าง องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์ในการสร้างความชอบธรรมในการล่าอาณานิคม ในอดีต ความขัดแย้งเกี่ยวกับ องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้พัฒนาสู่ปัญหาความมั่นคง ของ ชาติไทย นานมาแล้ว ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจน คือ การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ ๕ การเสียเขาพระวิหาร กรณีการเผาสถานทูตไทย ในประเทศเขมร และ เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในดินแดน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปัจจุบัน ล้วนเป็นประเด็นความมั่นคงของชาติ จะยังไม่ยุติลงอย่างง่ายๆ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ อย่างจริงจัง โดยไม่ยอมตรวจสอบหลักฐาน พื้นที่ตั้งศูนย์กลางอำนาจรัฐ ของชนชาติไทย ในอดีต อย่างจริงจัง

       การชำระประวัติศาสตร์ ของชนชาติไทย ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต นั้น ผู้เรียบเรียงเชื่อว่า ต้องใช้แนวทางจากบรรพชน ผู้สืบทอดประวัติศาสตร์ชาติไทย จากเชื้อสายราชวงศ์ ที่เคยสืบทอดราชวงศ์ มาเป็นแนวทางในการสืบค้นคว้า โดยต้องมุ่งเน้นสนใจ อดีตที่ตั้งศูนย์กลางอำนาจรัฐ เป็นหลักสำคัญ จึงจะทำให้การชำระประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำได้เร็ว และง่ายขึ้น ผู้เรียบเรียง เป็นเพียงผู้รักชาติ และห่วงใยประเทศชาติ จึงได้พยายามเรียบเรียง ข้อมูลตำนานความเป็นมา ของชนชาติไทย มาแล้วถึงประมาณ ๑๐ ปี โดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง โดยได้ใช้ความพยายามทาง อัตวิสัย ค่อยๆ จับประเด็นความเป็นมา ทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย เพื่อตรวจสอบหลักฐาน ต่อมา อีกประมาณ ๔ ปี รวมเป็น ๑๔ ปี จึงค่อยๆ พบความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ ที่ง่ายต่อการตรวจสอบหลักฐาน อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน เพราะสามารถจับโครงสร้างเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ของ ชนชาติไทย ได้อย่างชัดเจน

หนังสือเล่มนี้ ย่อมมีข้อบกพร่อง โดยข้อบกพร่อง จะได้รับการแก้ไข ถ้าช่วยกันชี้จุดอ่อน เพื่อช่วยกันแก้ไข ดังนั้น หากพบข้อมูลใดๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ร่วมกันดำเนินการ ตรวจสอบแก้ไข ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ต่อไป

 

นายเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ

(วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙)

 

Visitors: 47,291